Contact Us

E-Magazone
228/65 , Ratchada 32,
Jatujak Bangkok,Thailand 10900
Tel.0926992541
www.emagazone.com
Email: emagazone2017@gmail.com

Thank you Follow Us

รวมบทความ

Facebook

Stories all Around

Stories All Around สาระน่ารู้อยู่รอบตัวคุณ

Popular

ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

สกู๊ปพิเศษ เด็กทุกคนควรได้รับเงินอุดหนุนถ้วนหน้า

  
 เสียงสะท้อนจากใจของผู้ปกครองบนเวทีขับเคลื่อนเงินอุดหนุนเด็กเล็กสู่ถ้วนหน้า

“เวทีวันนี้จะเป็นการพูดคุยกันกลุ่มย่อยๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงพื้นที่นำไปเป็นข้อเสนอ เป็นภารกิจที่สำคัญ เพราะเรื่องของเด็กเป็นเรื่องของชาติด้วย โดยเฉพาะเด็กแรกเกิดถึง 6 ปีเป็นช่วงวัยที่สำคัญ”
ศีลดา รังสิกรรพุม ผู้จัดการมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม กล่าวเปิดเวทีขับเคลื่อนนโยบายเงินอุดหนุนเด็กเล็กสู่ถ้วนหน้า” เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2561ที่ผ่านมา





โดยมี วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย รวมกับกลุ่มผู้ปกครอง คนดูแลเด็กในชุมชน และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกับเด็กเล็กโดยตรง จาก 4 องค์กรเครือข่าย ได้แก่ มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก และสมาคมสตรีคนพิการ พร้อมวิทยากร ร่วมเวทีแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ด้วย ได้แก่ สุนี ไชยรส ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมความเสมอภาคและความเป็นธรรม วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยายรังสิต เชษฐา มั่นคง จากมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก และศีลดา รังสิกรรพุม ผู้จัดการมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในประเด็นปัญหาที่หลากหลาย จากผู้ปกครองที่ได้รับเงินอุดหนุนแล้วใช้จ่ายเงินดูแลลูกหลานอย่างไร คนที่ไปยื่นแต่ไ่มไ่ด้รับเงิน หรือคนมีลูกหลานแตไ่มไ่ปยื่น และผู้ที่สามารถเล่าภาพรวมของปัญหาได้ชัดเจน ลองมาฟังเสียงสะท้อนจากใจผู้ปกครองและผู้เกี่ยวข้องให้สังคมไทยผ่านภาพวาดและการพูดคุยถึงอนาตนของลูกหลาน หากได้รับเงินอุดหนุนเด็กเล็กสำคัญต่อพวกเขาอย่างไร



 

"ในอนาคตอยากให้ลูกเป็นนักกีฬาอาชีพ เพราะตัวเองชอบฟุตบอล ตนเองมีอาชีพค้าขาย (ไก่ทอด) มีลูก 2 คน ปัจจุบันลูกอายุ 5 ขวบ (เข้าโรงเรียนแล้ว) และ 2 ขวบ (อยู่ที่ศูนย์เด็กบ้านเสือใหญ่) คนโตได้รับเงินอุดหนุนเป็นรุ่นแรก คนที่สองก็ได้รับเงินเช่นกัน ในการจดทะเบียนทางมูลนิธิฯ ช่วยดำเนินการให้จึงไม่ยุ่งยาก ถ้าไปเองน่าจะยุ่งยาก สำหรับเงิน 600 บาทที่ได้รับส่วนใหญ่ไม่ค่อยเบิกมาใช้ จะเก็บไว้ใช้เฉพาะเวลาจำเป็นเท่านั้น เช่น ซื้อของให้ลูกช่วงเปิดเทอม” นายวิชัย แซ่กือ อาชีพขายไก่ทอด เป็นพ่อที่ได้รับเงินอุดหนุนฯ เล่าถึงการเก็บเงินส่วนนี้ใช้เมื่อยามจำเป็นของลูกทั้ง 2 คน



ขณะที่แม่คำปัน บุญสินช่อ ผู้เป็นยายที่ต้องเลี้ยงดูหลานเล็กๆ 3 คน อยู่ในชุมชนซอยเสือใหญ่ รัชดา 32
เล่าถึงปัญหาที่ยังไม่ได้รับเงินอุดนุนเด็กเล็กว่า
"ลูกสาวเอาหลานมาให้เลี้ยงตั้งแต่อายุ 5 เดือน ตอนนี้หลานอายุ 1 ขวบ กับ 3 เดือน ลูกสาวเคยยื่นเรื่องเงินอุดหนุนฯ ไว้รอบแรกแต่ไม่ได้ตามเรื่อง ยายจึงไปทำเรื่องต่อที่เขตเมื่อวันที่ 9 มี.ค.ที่ผ่านมา และขอเปลี่ยนชื่อผู้รับเป็นยาย (เพราะลูกสาวทิ้งไป) แต่ยังไม่ได้รับเงิน โดยได้ข้อมูลเรื่องนี้จากครูต่าย (มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม) และมีการลงบันทึกประจำวันที่ สน.ว่า ลูกสาวไม่ได้ดูแลลูกแล้ว คุณยายดูแลหลานแทน ซึ่งที่ผ่านมา เขตได้ลงเยี่ยมบ้านแล้ว ยายมีหลานทั้งหมด 7 คน แต่ที่ต้องเลี้ยงดูมี 3 คน ในครอบครัวมีรายได้จากตาเพียงนเดียว ตามีอาชีพรับซื้อของเก่า อยากจะเอาเงินที่ได้รับไปทำทุนให้ลูกหลาน โตขึ้นอยากให้มีอนาคตดีๆ มีการศึกษา อยากให้หลานเป็นหมอ จะได้รักษาคนไข้ ดูแลคนอื่น”

 
หรือกรณีของแม่เบียร์ เลี้ยงลูก 3 คน มีอาชีพเก็บของเก่าขายในชุมชนซอยเสือใหญ่ ยังไม่ได้รับเงินอุดหนุน เนื่องจากยื่นเรื่องแล้วเอกสารหาย ได้มาเล่าให้ฟังว่า “ไม่ได้รับเงินอุดหนุนตั้งแต่ลูกคนโต แต่ได้ยื่นเรื่องให้ลูกคนเล็กตั้งแต่คลอด (ที่อบต.หนองไฮ อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม) แล้วมาทำงาน กทม. ทำงานรับซื้อของเก่า พอติดตามเจ้าหน้าที่แจ้งว่า เอกสารตกหล่น หายไปทั้งชุด ตอนนี้จะยื่นใหม่ที่เขตในกทม."


ส่วนป้าติ๋ม ชูแก้ว ผู้ดูแลเด็กในชุมชน และมีลูกแล้ว ได้สะท้อนถึงปัญหาของผู้ปกครองในชุมชนที่ไปรับเงินอุดหนุนเด็กเล็กว่า “มีครอบครัวหนึ่งไปยื่นเรื่อง เขาบอกยุ่งยากเลยไม่ได้ตามต่อ เพราะเงื่อนไขเรื่องเงินเดือนไม่เกิน 3,000 บาท ซึ่งคนนี้มีลูก 3 คนทำงานรายวัน รายได้ไม่แน่นอน และเขาไม่รู้ข้อมูล เขต(ปทุมวัน) ไม่ใส่ใจ บอกว่าเอกสารไม่ครบ เลยไม่ทำต่อ แต่จะพยายามพาเขาไปทำเรื่องต่อจะได้ไม่เสียสิทธิ คนในชุมชนจะรู้ข้อมูลเรื่องนี้น้อย เจ้าหน้าที่ให้รายละเอียดไม่ครบ แต่จะรู้เรื่องจาก มพด.และผู้ดูแลชุมชนมากกว่า”



ป้าหมี รัสมี ทอนทอง ผู้ดูแลเด็กในชุมชนพื้นที่สีแดง และเป็นยายที่มีลูกสาวเป็นแม่วัยใสได้รับเงินอุดหนุนแล้ว เล่าประสบการณ์ได้รับเงินอุดหนุนมาอย่างไร “หลังจากลูกสาวคลอดหลานได้ 1 สัปดาห์ ได้พาลูกสาวไปแจ้งที่เขตมีหลักฐานไปยื่น ทางเขตให้เปิดบัญชี ครั้งแรกมีเจ้าหน้าที่เขตโทรมาว่าหลักฐานไม่ครบ ให้ส่งไปใหม่ พอส่งอีกครั้ง ประมาณ 4 เดือนยังเงียบอยู่ เลยเข้าไปถามที่เขต (ตนเองเป็นอาสามสมัคร รู้จักเจ้าหน้าที่เขต) เลยได้รับแจ้งว่า เงินได้โอนเข้าธนาคารแล้ว ดังนั้น เวลายื่นเรื่องต้องมีการตามเรื่อง จะได้รู้ว่าได้หรือไม่ได้ ขาดเอกสารอะไร ซึ่งตอนไปแจ้งเขตจะให้วาดแผนที่บ้าน ต้องมีประธานชุมชนเซ็นรับรองว่าเราอยู่ในชุมชนจริง”



ป้าหมียังเล่าเสริมอีกว่า ตอนนี้ได้รับเงินแล้ว เวลาจะขายของแม่จะเอาเงินนี้มาทุน ถ้าไม่จำเป็นจะไม่เบิกออกมา ให้แม่วัยใสเลี้ยงลูกได้ หมุนทำอะไรได้ ลูกสาวบอกว่า เงินก้อนนี้สามารถช่วยได้เวลาฉุกเฉิน จึงพยายามเก็บเงินก้อนนี้ไว้ใช้เวลาจำเป็น



นิศารัตน์ บัวผัน หรือแม่ศา ผู้เป็นแม่ลูก 4 คน ที่เคยได้รับเงินแล้วแต่กำลังโดนตัดสิทธิ ได้เล่าถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับสิทธิการได้รับเงินอุดหนุนของเธอในฐานะแม่อย่างไร “เดิมลูกได้เงินอุดหนุนฯ ตั้งแต่อายุ 2 เดือน ถึง 2 ปี แต่เมื่อเร็วๆ นี้ เจ้าหน้าที่ให้ยื่นเรื่องใหม่ ภายใน มี.ค. ซึ่งแม่ได้ไปยื่นให้ แต่เจ้าหน้าที่บอกว่าเด็กเกิดใหม่เยอะ เงินไม่พอ เขาจะช่วยแต่คนที่ลำบากจริงๆ เดือน เม.ย.เขาจะพิจารณาว่าจะให้เงินต่อหรือไม่" 



ประเด็นสำคัญที่ร่วมกันขับเคลื่อนเงินอุดหนุนเด็กเล็กนั่นคือ เด็กทุกคนควรได้รับเงินอย่างเสมอภาคและถ้วนหน้ากัน เพื่อให้เด็กมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งทั้งผู้ปกครองและผู้ที่เกี่ยวข้องเรื่องเด็กเล็กจากเครือข่ายองค์กรต่างๆ ได้ให้ความคิดเห็นตบท้ายเวทีเล็กๆ ที่ส่งเสียงดังจากหัวใจของพวกเขาเหล่านี้



“ คิดว่าเงินส่วนนี้ให้สำหรับเด็ก ไม่ใช่เงินสำหรับผู้ใหญ่ ถ้าคนรวยได้เงินนี้ไปสำหรับเด็กคนนี้ เขาอาจจะไม่ใช้ตอนนี้ก็ได้ เพราะคนเราไม่สามารถรู้อนาคตได้ วันนี้คุณรวย อนาคตอาจจะจนก็ได้ หากอนาคตพ่อแม่จนลง แต่เงินที่ให้ไว้กับเด็กจะยังอยู่และนำมาใช้ดูแลลูกได้” วิชัย แซ่กือ สะท้อนความคิดเห็นที่ผู้ใหญ่ต้องทบทวน



แม่คำปัน ยังคงกล่าวย้ำถึงความสำคัญของเงินอุดหนุนเด็กเล็กว่า“เห็นด้วยที่ให้เด็กทุกคน เขาจะได้มีกำลังใจ ช่วยได้เยอะ บางทีจะเก็บไว้ให้หลาน เพราะตอนนี้ยายยังทำงานไหวอยู่”

 

แม่เบียร์ “ถึงจะเป็นคนรวยของคนจน เงินนี้เป็นทุนการศึกษาให้เด็ก ไม่ใช่ของพ่อแม่ พ่อแม่บางคนที่ยากจนก็อาจเอามาซื้อข้าว ซื้ออุปกรณ์การเรียนให้ลูกได้”



แม่ศา “เงินที่ได้เอามาซื้อนม ซื้อแพมเพิร์สได้ เพราะพ่อแม่บางคนไม่มีเงิน การที่รัฐมาช่วยแบบนี้ถือว่าดี อย่างตนเองแฟนทำงานคนเดียว ได้เงินเป็นรายวัน รายสัปดาห์ บางทีไม่มีเงินให้ลูกกินก็โทรไปขอย่ายาย แต่พอมีเงินนี้มาก็ช่วยได้เยอะ เพราะลูกถ่ายเยอะยังต้องใช้แพมเพิร์ส และคิดว่าเด็กควรได้รับทุกคน เพราะเป็นเงินที่ช่วยเหลือเด็ก แม้พ่อแม่จะจนหรือรวย”



ป้าติ๋ม "ตอนแรกเงินนี้ได้ 400 บาท ตอนนี้เป็น 600 บาท เป็นค่านม ค่าแพมเพิร์สได้ อยากให้เด็กได้ทุกคน เพราะคนรวยเมื่อเขาได้เงินไป เขาอาจเอาเงินไปช่วยเด็กที่ด้อยโอกาสก็ได้”



ป้าหมี “สำหรับลูกสาวจะเสริมเรื่องการดูแลสุขภาพ พยาบาลนัดฉีดวัคซีน โดยที่เราไม่ต้องเตือน การได้เงิน 600 บาท แทนที่แม่วัยใสจะมีอารมณ์หงุดหงิด จะมาใส่ใจเรื่องอาหารการกินของลูกแทน อยากให้เด็กทุกคนได้เงิน จะได้ไม่แบ่งแยกเด็กว่าทำไมคนจนได้ คนรวยไม่ได้ (เป็นการตีตราเด็ก)




ครูนุ้ย กาญจนา แพงตุ้ย ในฐานะคนทำงานในมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม “เราควรมองข้ามเรื่องคนรวยคนจน เพราะพอแบ่งกลุ่มเป้าหมายจะเกิดปัญหาทำให้ไปไม่ถึงสิ่งที่คิดว่าจะทำให้เด็กทุกคน ถ้าสามารถขับเคลื่อนให้รัฐบาลยอมรับว่า นี่คือสิ่งที่สังคมต้องให้เด็กทุกคน ไม่ใช่หน้าที่องค์กรใดออค์กรหนึ่งที่ต้องทำให้เด็ก แต่ต้องให้เป็นสวัสดิการถ้วนหน้าสำหรับเด็กทุกคนทั่วประเทศ”



สุชญา เฑียนแสงทอง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อเด็กพิการ ในฐานะคนทำงาน ได้เล่าปัญหาเงินอุดหนุนเด็กว่า “พอได้รับโจทย์การบ้านจากคุณหมอประพจน์ ได้ไปทำการบ้าน หาข้อมูลจากกลุ่มเป้ราหมายคือครอบครัวที่มีเด็กพิการ พบว่า ได้เงินอุดหนุน 0% คือ ไม่มีใครได้รับเงินเลยและไม่ได้ยื่นเรื่องด้วย”


 

ส่วนรำไพพรรณ จิตต์ธรรม จากมูลนิธิเพื่อเด็กพิการ ในฐานะคนทำงานเช่นกัน ได้เล่าว่า “ความคาดหวัง (จากภาพ) มีเด็กสีดำ สีเทา สีขาว บ้านสีเหลืองแทนหน่วยงาน บ้านหลังเล็กๆ สีฟ้าจำนวนมาก เปรียบเหมือนชุมชน มองว่านโยบายเงินอุดหนุนเด็กเล็กเป็นนโยบายที่ดี อยากให้ไปถึงเด็กทุกคนทั้งประเทศ เพราะจะมีประโยชน์กับตัวเด็กมากที่สุด ส่วนเด็กที่มูลนิธิฯ ไม่เข้าถึงสิทธิเหล่านี้”



ศุภวัฒน์ เสมอภาค องค์การคนพิการสากลประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก “กรณีเด็กพิการ จะมีการทำบัตรคนพิการเมื่อรู้อาการ แต่กรณีที่ไม่รู้อาการหรือมารู้ตอนอายุมากกว่า 3 ปี นโยบายนี้จะทำให้ตกหล่น จากข้อมูลเราอาจจะเจอเด็กพิการที่มีอายุ 0 – 5 ปี ประมาณหมื่นกว่าคน ซึ่งอาจเข้าไม่ถึงสิทธิ”

ในฐานะคณะทำงานผู้ส่วนขับเคลื่อนเงินอุดหนุนเด็กเล็กสู่ถ้วนหน้าได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อกรณีปัญหานี้ด้วยเช่นกัน



เชษฐา มั่นคง ดีใจที่ได้มาฟังข้อมูลดีๆ ซึ่งโครงการนี้คาดหวังว่าเงินอุดหนุนเด็กฯ จะช่วยครอบครัวที่ลำบากให้สามารถดูแลเด็กได้ดีขึ้น จากที่ได้ฟังวันนี้ในส่วนที่มีการตกหล่นจะนำข้อมูลไปตรวจสอบกับ พม.อีกครั้งว่าเป็นเพราะอะไร รวมทั้งการคืนสิทธิให้เด็กย้อนหลังด้วย เพราะการพัฒนาเด็กรอไม่ได้ การได้รับเงินอุดหนุนฯ จะทำให้แม่เด็กเห็นคุณค่า”



ศีลดา รังสิกรรพุม “เป็นสิ่งที่เรามีความมุ่งมั่นเรื่องการเปลี่ยนแปลงของประเทศ ทำให้เด็กได้รับสวัสดิการถ้วนหน้า ทำให้คนสนใจเรื่องเด็กมากขึ้น ฝากเรื่องการสื่อสารในองค์กร สัมภาษณ์ผู้ปกครองว่า มีการนำเงินนี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์จริงๆ หากมีคลิปวิดีโอก็สามารถนำมาสื่อสารสู่สาธารณะได้”

 

สุนี ไชยรส ในฐานะประธานฯ ได้กล่าวปิดท้ายเวทีขับเคลือนเงินอุดหนุนเด็กเล็กสู่ถ้วนหน้า ครั้งนี้ว่า “ได้รับฟังเรื่องราวที่เป็นประโยชน์ เป็นเรื่องราว/ข้อมูลที่สามารถนำไปอ้างอิงและผลักดันต่อ ในการทำงานจริงยังคงทำงานร่วมกันในเรื่องนี้ต่อไป ทั้งมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ องค์การคนพิการต่างๆ และอีกหลายองค์กร เพราะเรื่องเด็กเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ ซึ่งอยากให้ทุกคนเข้าไปในเพจ “เด็กเท่ากัน” ในเฟซบุ๊ก จะเห็นข้อมูลและการเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ โดยจะเก็บเกี่ยวข้อมูลไปใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด”

ติดตามข่าวสาร โครงการขับเคลื่อนนโยบายเงินอุดหนุนเด็กเล็กสู่ถ้วนหน้า  ได้ที่ https://www.facebook.com/เด็กเท่ากัน


                                         
Story & Photo : Niki9

ขอบคุณ

โครงการขับเคลื่อนนโยบายเงินอุดหนุนเด็กเล็กสู่ถ้วนหน้า
องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย
วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม
มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก
มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ
สมาคมสตรีคนพิการ
คณะทำงานฯ และผู้ปกครองทุกท่าน































ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ชะเอมเถา สรรพคุณมากล้น จากเถาถึงผล รักษาโรคสารพัด

มะกรูดดองน้ำผึ้ง ยาอายุวัฒนะ เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน บำรุงเลือด ผิวพรรณ​ดี

ไปให้รู้ เดินดูให้เห็นสะพานเดินท่องป่าชายเลน วนอุทยานปราณบุรี