Contact Us

E-Magazone
228/65 , Ratchada 32,
Jatujak Bangkok,Thailand 10900
Tel.0926992541
www.emagazone.com
Email: emagazone2017@gmail.com

Thank you Follow Us

รวมบทความ

Facebook

Stories all Around

Stories All Around สาระน่ารู้อยู่รอบตัวคุณ

Popular

ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

วิถีเกษตรพอเพียง @ โรงเรียนชาวนา มูลนิธิข้าวขวัญ


เรียนรู้วิถีเกษตรพอเพียง @ โรงเรียนชาวนา  มูลนิธิข้าวขวัญ The simple organic life & Organic Way 






เรื่องและภาพ Niki9
หลังจากขับรถผ่าน ป้ายมูลนิธิข้าวขวัญทั้งไปและกลับจังหวัดสุพรรบุรี หลายครั้ง ในที่สุดข้าพเจ้าก็ตัดสินใจแวะเข้าไปเยี่ยมเยือน ศูนย์เรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์ และการนำเทคโนโลยีด้านการเกษตรมาพัฒนาให้ความรู้เกษตรกรและผู้สนใจทั่วไปนำองค์ความรู้ปรับใช้ให้เหมาะสมกับท้องถิ่น สามารถพึงพาตนเองได้อย่างยั่งยืน...








การมาเยี่ยมชมแปลงนาข้าว และกิจกรรมต่างๆ ของมูลนิธิข้าวขวัญแบบไม่ได้นัดหมายไว้ล่วงหน้า ทำให้โชคดีได้พบ อาจารย์เดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิกำลังนั่งเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวฟ่างอยู่ภายในสำนักงาน ทำให้ได้พูดคุยกับอาจารย์ในบรรยากาศสบายๆ เป็นกันเอง 





อาจารย์เดชา เล่าถึงที่มาของมูลนิธิข้าวขวัญให้ฟังว่า เป็นองค์กรพัฒนาเอกชน ที่ดำเนินงานด้านพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรที่เหมาะสมกับท้องถิ่น พัฒนาพันธุกรรมข้าว และพืชพื้นบ้าน วิจัยและพัฒนาผล กระทบของสารเคมีทางการเกษตร ตลอดจนค้นหาทางเลือกร่วมกับเกษตรกรในการทำเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมี 






สำนักงานมูลนิธิฯ และพื้นที่ปฏิบัติงานภาคสนามอยู่ในเขต จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นแหล่งสำคัญของการผลิตอาหารที่มีมาแต่อดีต พื้นที่เหล่านี้ตั้งอยู่ในเขตเกษตรก้าวหน้า ที่เคยรับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการเกษตรแบบปฏิวัติเขียว (Green Revolution ) ซึ่งต้องพึ่งพาเทคโนโลยี และปัจจัยการผลิตจากภายนอก จนเป็นต้นเหตุของปัญหาเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และปัญหาสุขภาพของทั้งผู้ผลิต และผู้บริโภค ปัจจุบันมูลนิธิข้าวขวัญ มีเนื้อที่ 7 ไร่ครึ่ง ในเขตเทศบาลท่าเสด็จ ต.สระแก้ว อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี โดยมีพื้นที่ปฏิบัติงานในเขตจังหวัด สุพรรณบุรี 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.บางปลาม้า อ.อู่ทอง และ อ.ดอนเจดีย์ รวมทั้งเครือข่ายทั่วประเทศกว่า 36 เครือข่าย โดยมีกิจกรรม เป้าหมาย และวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานสำคัญ ๆ ดังนี้คือ



 เพื่อให้เกษตรกรและชุมชนได้เรียนรู้จากความรู้ภายนอก และการฟื้นฟูความรู้ดั้งเดิมมาจัดการอย่างบูรณาการ เพื่อให้เกิดระบบการเกษตรที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์ และฟื้นฟูธรรมชาติ สามารถลดการพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากภายนอก และสามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น สานสร้างเครือข่ายของผู้ผลิต และผู้บริโภคที่เห็นคุณค่า และความสำคัญกับเรื่องของวิถีชีวิต สังคม สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม อันเป็นการเชื่อมโยงกันระหว่าง การพัฒนาระบบเกษตรกรรม กับการพัฒนาวิถีชีวิตอย่างเป็นสุข รวมถึงการพัฒนาด้านอื่นอย่างรอบด้าน



แต่สิ่งที่อาจารย์เดชาเล่าด้วยความภูมิใจซึ่งเป็นโครงการสำคัญของมูลนิธิข้าวขวัญคือ การเปิดโรงเรียนชาวนา โดยเน้นให้ความรู้แก่กลุ่มเกษตรกร หรือผู้สนใจที่มีความพร้อมที่ตั้งใจจะทำเกษตรอินทรีย์ มาเข้าอบรม ขยายองค์ความรู้ในเชิงลึกเพื่อพัฒนาแนวคิดในการพึงตนเองเป็นสำคัญ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรที่สำคัญ คือ สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม ( สคส.) ในการสนับสนุนงบประมาณดำเนินการจัดการเรียนรู้ 3 หลักสูตรด้วยกันได้แก่ 






หลักสูตรที่ 1 การบริหารจัดการศัตรูพืชโดยชีววิธี 
เน้นให้ชาวนาเลิกใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชโดยสิ้นเชิง ซึ่งความรู้ใหม่ที่ชาวนาต้องเข้าใจอย่างชัดเจน คือ การศึกษาถึงความสำคัญของระบบนิเวศน์ในแปลงนา สิ่งมีชีวิตต่างๆที่เกื้อกูลกันและกัน และอีกหนึ่งความรู้ที่ชาวนาต้องศึกษาเพิ่ม คือ สมุนไพรที่สามารถนำมาใช้จัดการแมลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ละชนิดมีสรรพคุณอย่างไร และวิธีการในการหมักและใช้สมุนไพรมีอะไรบ้าง เป็นต้น





หลักสูตรที่ 2 การปรับปรุงบำรุงดินโดยชีววิธี
ให้ชาวนาเลิกใช้ปุ๋ยเคมีอย่างสิ้นเชิง รวมทั้งการเลิกใช้แม้กระทั่งปุ๋ยหมักชีวภาพ ปล่อยให้ธรรมชาติดูแลกันเอง มีการทดลองจากของจริง เรียนรู้เข้าใจถึงโครงสร้างดิน สภาพดินที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว รวมทั้งความสัมพันธ์ต่างๆ ของระบบที่ต่างก็เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของพืช เรียนรู้ว่าดินที่ดีเป็นอย่างไร และสามารถตรวจสอบสภาพดินโดยใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ หาค่าความเป็นกรด-ด่าง หรือเช็คธาตุอาหารที่มีอยู่ได้ หัวใจสำคัญของหลักสูตรนี้ คือ การเน้นปรับปรุงบำรุงดินด้วยตนเอง ให้ความรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของจุลินทรีย์ที่มีผลต่อเกษตร ทำการทดลองเลี้ยงและขยายพันธุ์จุลินทรีย์ได้ด้วยตนเอง จนถึงขั้นสามารถนำไปใช้ในพื้นที่ของตนเองได้อย่างครบวงจร เสริมความรู้ด้วยเทคนิคในการทำปุ๋ยหมักชีวภาพ ทำน้ำหมักชีวภาพ เป็นต้น




หลักสูตรที่ 3 การพัฒนาพันธุ์ข้าว
สาระสำคัญเน้นให้สามารถจัดการเก็บและขยายพันธุ์ข้าวไว้ใช้ได้เอง เทคนิคการปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์ข้าวให้ได้อย่างที่ต้องการ เช่น การสามารถคัดเลือกพันธุ์ข้าวจากข้าวกล้อง เพื่อให้ได้ข้าวเม็ดสวยและสมบูรณ์แบบที่สุด จนกระทั่งปลูกเป็นต้นกล้าข้าวกล้องได้ และนำไปขยายโดยปลูกแบบดำนาต้นเดียว ซึ่งจะทำให้ง่ายในการคัดเลือกพันธุ์ข้าวที่สมบูรณ์แบบที่สุด และเทคนิคที่สูงขึ้นไป คือ การรู้จักวิธีการตอนและผสมพันธุ์ข้าวที่ต้องการได้ด้วยตนเอง






ฟังอาจารย์เดชา เล่ากิจกรรมการเรียนรู้ทั้ง 3 หลักสูตรแล้วใจตื่น ตาลุกวาว คิดอยากหาโอกาสมาลงคอร์สเรียนการทำเกษตรพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยื่นที่โรงเรียนชาวนาแห่งนี้สักครั้ง



นอกจากกิจกรรมการเรียนรู้ของมูลนิธิข้าวขวัญแล้ว ที่นี่ยังมีผลผลิตของตนเองและลูกศิษย์ที่มาอบรมแล้วนำองค์ความรู้กลับไปพัฒนาต่อยอดและสร้างผลผลิตออกมาจำหน่ายเป็นสินค้าด้วย เช่น เมล็ดพันธุ์พืชผัก สมุนไพรต่างๆ ที่สามารถนำมาปลูกขยายพันธุ์ได้อีกต่อไป ข้าวพันธุ์ต่างๆ สินค้าแปรรูสมุนไพรไทยต่างๆ หัตถกรรมผ้าปักตุ๊กตาผ้า หนังสือดีๆ มีให้เลือกซื้อได้ในราคาไม่แพงอีกด้วย







ช่วงเวลาพูดคุยกับประธานมูลนิธิข้าวขวัญที่เต็มไปด้วยสาระความรู้มากมายนั้นผ่านไปอย่างรวดเร็ว จนลืมว่าต้องกลับเข้าเมืองกรุงด้วยมีนัดหมายต่อในยามเย็นค่ำ จึงขออำลาอาจารย์เดชา ศิริภัทรกลับเมืองกรุงก่อนไปเผชิญรถติดอีกตามเคย 



"การทำเกษตรต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ของชาวนาไทย หรือคนจะทำเกษตรแบบพึ่งต้นเอง นั่นคือ ต้องเริ่มจากปลูกข้าว พืชผักสมุนไพร ไว้กินเองก่อน เหลือแล้วเอาไปแบ่งปันแจกจ่าย และถึงนำไปขาย ทำอย่างพอเพียงพอประมาณ ถึงจะอยู่ได้อย่างมั่นคง พึ่งพาตนเองได้จริงและยั่งยืนด้วย" อาจารย์เดชา ให้แง่คิดทิ้งท้ายที่จริงจังแต่เต็มไปด้วยรอยยิ้มเปี่ยมเมตตา 



ชวนให้นึกถึงวลีทองที่ว่า "เงินทองของมายา...ข้าวปลาสิของจริง" ของหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร นักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7 จนได้รับขนานนามว่า "บิดาแห่งการเกษตรแผนใหม่" ในวงการเกษตรกรรมไทย ได้เคยกล่าวไว้นั้นเป็นจริงในทุกยุคสมัยที่ผ่านมา...





ภาระกิจที่ค้างคาใจมานานได้ทำสำเร็จลงแล้ว พร้อมแรงบันดาลใจในการบ่มเพาะแนวคิดวิถีทำเกษตรอินทรีย์มั่นคง พอเพียงและยั่งยืนนำมาพัฒนาต่อยอดที่สวนต้นรุ้งที่เชียงรายต่อไป...



สอบถามกิจกรรมเพิ่มเติมได้ที่

มูลนิธิข้าวขวัญ
13/1 หมู่ 3 ถ.เทศบาลท่าเสด็จ 1 ซ. 6 ต.สระแก้ว อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี 72230
โทร. 080 900 9472

ขอขอบคุณ 
อาจารย์เดชา ศิริภัทร 
ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ
         

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ชะเอมเถา สรรพคุณมากล้น จากเถาถึงผล รักษาโรคสารพัด

มะกรูดดองน้ำผึ้ง ยาอายุวัฒนะ เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน บำรุงเลือด ผิวพรรณ​ดี

ไปให้รู้ เดินดูให้เห็นสะพานเดินท่องป่าชายเลน วนอุทยานปราณบุรี